Saturday, January 19, 2013

บทสวดมนต์ คุณแม่สิริ กรินชัย (พร้อมคำแปล)

บทสวดมนต์ คุณแม่สิริ กรินชัย (พร้อมคำแปล)



บทสวดมนต์ของคุณแม่สิริ กรินชัย เป็นบทสวดมนต์สั้นๆ ง่ายต่อการจดจำ แต่มีความหมายกว้าง
แสดงความเคารพ คารวะต่อสิ่งที่ควรเคารพทั้งหลายทั้งปวงครบบริบูรณ์
 ซึ่งพวกเราเหล่าลูกโยคี (ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่ยังครองบ้าน ครองเรือน ยังมีเพื่อนฝูง ญาติมิตร
 ส่วนใหญ่ยังทำมาหากินโดยสัมมาอาชีพอยู่) ใช้ในการทำวัตรเช้าและเย็นทุกวัน
คุณแม่ท่านเล่าว่า บทสวดมนต์นี้ท่านได้มาจากพระธุดงค์องค์หนึ่ง ท่านชอบมากและสวดในชีวิตประจำวันของท่านตลอดมา
 และเห็นว่าให้คุณมาก เลยนำมาแจกจ่ายให้ลูกโยคีของท่าน เป็นมรดกธรรมอันหนึ่ง ซึ่งจะได้อัญเชิญมาแปลและอธิบายขยายความดังนี้






" อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธังภะคะวันตัง อภิวาเทมิ " 
(กราบ ๑ ครั้ง)

แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงทุกข์ เพลิงกิเลสสิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
ข้าพเจ้าขอน้อมอภิวาทพระองค์ท่านผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยใจเคารพอย่างสูงสุด






" สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมังนะมัสสามิ " 
(กราบ ๑ ครั้ง)

แปลว่า พระธรรมคือคำสั่งสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว
ข้าพเจ้าเคารพนอบน้อมซึ่งพระธรรมนั้น






" สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ " 
(กราบ 1 ครั้ง)

แปลว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติสมควรแล้ว
ข้าพเจ้ากราบไหว้ซึ่งพระสงฆ์เจ้าหมู่นั้น





" พุทธะบูชา มะหาเตชะวันโต 
ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธ ขอให้ข้าพเจ้ามีเดชเดชะ "

เดชเดชะ หมายถึง เดช คือความร้อน หรืออำนาจ 5 ประการของพระพุทธเจ้าที่ขอให้เกิดในตัวเรา คือ


๑. จรณเดช เดชคือศีล คือขอให้เราเป็นผู้มีศีลมั่นคงเป็นนิจ จนสามารถขจัดทุศีล
คือล่วงละเมิดศีลให้หมดสิ้นไป เช่นในอาชีวัฏฐมกศีล ซึ่งเป็นนิจศีลของพวกเราเป็นต้น
ซึ่งสามารถทำให้เราเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ละเว้นซึ่งอกุศลกรรมบถทั้ง 10 ประการ คือ



ทางกาย ๓ คือ

๑. ละเว้นฆ่าสัตว์

๒. ละเว้นลักขโมยหรือฉ้อโกง หรือยึดเอาของของผู้อื่นมาเป็นของตน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
๓. ละเว้นการประพฤติผิดในกาม



ทางวาจา ๔ คือ

๑. ละเว้นการกล่าวคำเท็จ

๒. ละเว้นการพูดยุยงส่อเสียด

๓. ละเว้นการกล่าวคำหยาบคายด่าทอ

๔. ละเว้นการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีประโยชน์



ทางใจ ๓ คือ

๑. ละเว้นอภิชฌา คือ มีใจคิดอยากได้ของของผู้อื่น

๒. ละเว้นความพยาบาท ปองร้ายผู้อื่น

๓. ละเว้นมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
ผู้มีศีลบริสุทธิ์ย่อมแสดงออกมาทางใบหน้า กิริยาท่าทางอิ่มเอิบมีความสุข



๒. คุณเดช เดช คือคุณ ที่เป็นคุณต่อตนเองและผู้อื่น เนื่องจากสมาธิจิตย่อมทำให้เกิดอภิญญาบางอย่างได้
เช่นการระลึกชาติ การหยั่งรู้ใจคน การเหาะเหินเดินอากาศ
เดช คือคุณนี้ ถ้าปฏิบัติได้ และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ จะมีอำนาจขจัดผู้ที่มีเดชมิใช่คุณให้สิ้นไปได้



๓. ปัญญาเดช เดช คือ ปัญญา คือขอให้มีภาวนามยปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป



4. บุญเดช เดช คือบุญกุศลทั้งหลาย ซึ่งเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของผู้ปฏิบัติธรรม เช่น บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ ได้แก่



ทาน ๓ 

๑. ทานมัย ได้แก่ ความเอื้อเฟื้อด้วยวัตถุทาน
๒. 
ปัตติทาน คือการแผ่บุญกุศลที่ตนได้ทำแล้วให้แก่ผู้ป่วย และผู้ที่ล่วงลับไปแล้วบำเพ็ญกุศลอุทิศให้

๓. ปัตตานุโมทนาทาน คือ ความยินดีในทานการให้ส่วนบุญของผู้อื่น



ศีล ๓ ได้แก่
๑. 
สีลมัย ได้แก่ ข้อปฏิบัติในอาชีววัฏฐมกศีล ทำให้ละเว้นอกุศลกรรมบท 10 และอินทรีย์สังวรศีล
ซึ่งได้แก่ การมีสติกำหนดรู้ทุกๆ อิริยาบทซึ่งมีผลให้เกิดภาวนายมัยปัญญา สามารถลดละกิเลส ตัณหา อุปทานลงได้ตามลำดับเป็นต้น

๒. อปจายนมัย คือความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลทั่วไป

๓. เวยยาวัจจมัย คือ การประกอบกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น



ภาวนา 3 ได้แก่
 การภาวนา รู้ รูป นาม และเจริญเมตตาภาวนา
ธรรมัสวนมัย คือ การฟังธรรมจากผู้รู้
ธรรมเทศนามัย คือ การแสดงธรรมและสนทนาธรรมเป็นต้น



ส่วนข้อที่ 10 คือ ทิฏฐชุกัมม์ ได้แก่ การทำความคิดเห็นให้ถูกต้องจนได้ปฏิบัติตนครบ 9 ข้อ ข้างบนนั่นเอง



5. ธรรมเดช เดช คือธรรมะ ขอให้เราได้รู้จักธรรมะที่ดี ได้แก่
การพิจารณาสิ่งต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรูปกับนาม ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติ ได้แก่

กฎของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง

ทุกขัง เกิดทุกข์ เพราะความไม่เที่ยงนั้น

และอนัตตา คือ ไม่มีตัวตนที่แน่นอน จึงยึดถือไว้ไม่ได้ดังนี้






" ธมมะบูชา มะหาปัญญะวันโต 
ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรม ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาอันยิ่งใหญ่ "
ปัญญาอันยิ่งใหญ่ คือ ภาวนามยปัญญาซึ่งเป็นปัญญาที่ได้จากการปฏิบัติธรรม


ปกติเมื่อมนุษย์เกิด มีปัญญาติดตัวมาด้วย ซึ่งเกิดจากกรรมที่สะสมไว้ในชาติก่อนนี้ เรียกว่า สชาติกปัญญา
 
แม้ผู้เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน มีสชาติกปัญญาไม่เท่ากัน
 
สชาติกปัญญานี้เป็นทุนเดิมที่เรามีความสามารถจดจำ รู้เข้าใจและทำตามกัลยาณมิตรต่างๆ ตั้งแต่ พ่อแม่ ครู อาจารย์ ญาติพี่น้อง 

ปัญญาที่เกิดจากการอบรมสั่งสอนนี้เรียก สุตมยปัญญา

เนื่องจากสุตมยปัญญา รวมเข้ากับ สชาติกปัญญา เป็นทุนเดิม
มนุษย์อาจเกิดปัญญาอีกชนิดหนึ่ง ค้นคว้า ดัดแปลงแก้ไขสิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต

โลกมีสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมามากมาย เพื่อความมุ่งหมายต่างๆ กันของผู้คิดค้นขึ้นมาได้ ก็เพราะปัญญาชนิดนี้ ท่านเรียกว่า จินตามยปัญญา



ส่วนภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขั้นภาวนา

เป็นความรู้วิเศษที่เกิดได้เฉพาะตัว รู้ได้เฉพาะตัวผู้ปฏิบัติเอง

ช่วยให้ผู้นั้นได้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสต่างๆ ที่ติดมากับจิตของมนุษย์และรูปนามที่ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ

ภาวนามยปัญญามีหลายชั้น แต่ละชั้นผู้ปฏิบัติธรรมจะลดละกิเลส ตัณหาอุปาทานไปได้ตามลำดับ
การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องซึ่งจะเกิดภาวนามยปัญญาได้ ก็คือการปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐาน หรือการเจริญมรรคมีองค์ ๘
หรือการเจริญภาวนาโดยการพิจารณารูปนามเป็นอารมณ์ ซึ่งได้แก่ การปฏิบัติธรรมของพวกเราลูกโยคี ของคุณแม่สิริ กรินชัย เป็นต้น






" สังฆะบูชา มะหาโภคะวะโห
ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์ ขอให้ข้าพเจ้าอุดมด้วยอริยสมบัติ "

อริยสมบัติ หรือ อริยทรัพย์ คือ คุณสมบัติซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนปรารถนาให้เกิดมีในตน เพื่อผลของการบรรลุธรรม ได้แก่
๑. ศรัทธา คือความเชื่อมั่น เลื่อมใสในพระปัญญาความสามารถของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เลื่อมใสอยากปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน เลื่อมใสในพระอริยสงฆ์สาวกสุปฏิปันโนของพระองค์ท่าน

เลื่อมใสในกัลยาณมิตรผู้สั่งสอนอบรมให้มีความรู้ ตามที่ได้ศึกษาจนรู้แจ้งมาแล้ว


๒. ศีล ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านย่อมปรารถนาทำตนให้เป็นผู้บริสุทธิ์เสียก่อนทั้งกาย วาจาและใจ
 โดยอาชีวัฏฐมกศีลของลูกโยคี ซึ่งพาทำโดยคุณแม่สิริ กรินชัย เรียกว่า บริสุทธิ์ ๓ คือ


กายบริสุทธิ์ ๓ ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และไม่ประพฤติผิดประเวณี


วาจาบริสุทธิ์ ๔ ได้แก่ไม่พูดเท็จ ไม่พูดยุยงส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อ
 

มโนบริสุทธิ์ ๓ คือ ไม่มีอภิชฌา ได้แก่ ความมีจิตมุ่งร้ายอยากได้ของผู้อื่น
 ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และไม่มีความคิดเห็นที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม เช่นไม่รู้จักบุญคุณผู้อื่น ,เห็นว่านรกสวรรค์ไม่มีจริง ฯลฯ


บริสุทธิ์ ๓ เรียกได้อีกอย่างว่า กุศลกรรมบท ๑๐ ซึ่งท่านกล่าวว่า จะช่วยให้เราได้เกิดเป็นมนุษย์อีก ในชาติหน้า



ผู้ปฏิบัติธรรมสายสมถวิปัสสนากรรมฐาน เช่น พวกเราลูกโยคี มีกิจที่ต้องกระทำในการปฏิบัติตลอดเวลา
 คือ ที่เรียกว่า ปฏิบัติอินทรีย์สังวรศีล 
ซึ่งได้แก่การสำรวมกิริยา วาจา ใจ กำหนดการกระทำของตนเองทุกอย่าง ทุกอิริยาบท เช่นการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน เคี้ยว ดื่ม
กำหนดรู้ผัสสะทุกชนิด (ซึ่งเกิดจากอายตนะภายใน มี หู ตา จมูก ลิ้น กาย และ ใจ เป็นผู้รับ ผู้ส่ง คือ อายตนะภายนอก มี รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และความนึกคิด คืออารมณ์เกิดวิญญาณรู้ขึ้นที่ใจ และเรากำหนดรู้ทุกครั้ง)


อินทรีย์สังวรศีล ช่วยให้เรารู้ตัวการกระทำทั้งหมดของเรา ต่อตัวเราเอง ของเราต่อผู้อื่น หรือของผู้อื่นต่อตัวเรา
ทำให้เราสามารถป้องกันตัวเองให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงได้ ทำให้กิเลสตัณหา อุปาทานต่างๆ ของเราเองลดลงได้ ซึ่งก็คือ การบรรลุธรรม



การบรรลุธรรม จึงเกิดจากการเป็นผู้มีบริสุทธิ์ศีล เรียกว่า ศีลวิสุทธิ 
ซึ่งทำให้ เกิดจิตวิสุทธิ, ทิฏฐิวิสุทธิ, กังขาวิตรณวิสุทธิ, มรรคามรรคญาณทัสสนวิสุทธิ
จนได้ปฏิปทาญานทัสสวิสุทธิ ตามลำดับ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการบรรลุธรรม



๓. หิริ คือ ความละอายต่อบาป และ



๔. โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อบาป ก็คือคุณสมบัติทางธรรมของผู้มีศีลบริสุทธิ์
ทำให้มีความละอายและเกรงกลัวที่จะทำบาป เพราะรู้ว่าการทำบาปคือการกระทำกรรมชั่ว ย่อมมีผลตอบแทนแก่ผู้กระทำในทางชั่วเช่นกัน



๕. สุตะ คือ การได้ยินได้ฟังแต่ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม

ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมมีศีลทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ และไม่พูดคำหยาบอยู่แล้ว
 ยังมีการบรรยายธรรม สนทนาธรรม การโต้ตอบปุจฉาและวิสัชนาธรรมกัน
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งดีงาม ก่อให้เกิดสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญาทั้งสิ้น
 ซึ่งเมื่อนำไปปฏิบัติ ภาวนามยปัญญาย่อมเกิดตามมา สมประสงค์ของผู้ปฏิบัติธรรม

๖. จาคะ คือ การให้ทาน

คือมีการเสียสละทรัพย์นอกตนและในตน ให้ผู้อื่นด้วยจิตเมตตากรุณา
จาคะที่สำคัญ คือ อภัยทาน ได้แก่ การงดโทษโกรธพยาบาทที่มีต่อผู้อื่น
 ท่านว่าถ้าสามารถภาวนาจนเกิดอภัยทานได้ ก็จะเกิดผล คือ อริยมรรค คือ บรรลุธรรมได้



๗. ปัญญา ความรู้วิเศษ คือ ภาวนามยปัญญาขั้นสูง ๔ ขั้น ได้แก่ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคา และอรหันต์






" ติโลกะนาถัง รัตนะตะยัง อภิปูชยามิ "

แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งของโลกทั้งสาม
โลกทั้งสาม คือ ที่เวียนว่ายตายเกิด เพื่อรับกรรม ใช้กรรมของสัตว์โลก 
รวมทั้งหมด ๓๑ ภพภูมิ คือ



ก. กามโลก คือโลกของสัตว์ผู้ยังชุ่มแช่อยู่ในกาม คือ ยังมีกิเลส ตัณหา อุปาทาน อยู่ใน รูป รส กลิ่น เสียง
กามโลก แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ

โลกทุคติ มี ๔ ภพภูมิ มีเปรต ๑ นรก ๑ อสุรกาย ๑ สัตว์เดรัจฉานอีก ๑ 

ส่วนอีกพวกเรียกว่า โลกสุคติ มี ๗ ภพภูมิ ได้แก่ สวรรค์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเทวดาและนางฟ้า ๖ ภพภูมิ และมนุษย์อีก ๑ ภพภูมิ



ข. รูปโลก เป็นโลกของผู้ปฏิบัตอธรรมสายสมถกรรมฐาน ได้ความรู้ขั้นรูปฌาน ๕ มี ๑๖ ภพภูมิ



ค. อรูปโลก เป็นโลกของผู้ปฏิบัติธรรมสมถกรรมฐาน ได้ถึงอรูปฌานสี มีอีก ๔ ภพภูมิ



สัตว์โลกทั้ง ๓๑ ภพภูมิ ยังเป็นผู้ประกอบทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว จึงมีชนกกรรมทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดตามกรรมของตน

มีปฏิสนธิวิญญาณ ซึ่งเหมาะสมที่จะไปเกิดตามที่ต่างๆ ทั้งดีและชั่ว

สิ่งที่จะช่วยสัตว์โลกเหล่านี้ได้ก็คือ พระรัตนตรัยและการปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุธรรม






" วันทามิ เจติยัง สัพพัง สัพพัฏฐาเน สุปฏติฏฐิตัง สารีริกะธาตุ 
มะหาโพธิง ชินะโยจะ พุทธะรูปัง สะกะลัง สะทา "
แปลว่า ขอบูชากราบไหว้พระเจดีย์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามที่ต่างๆ
 ขอเคารพพระบรมสารีริกธาตุ ต้นไม้พระศรีมหาโพธิ์ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และเคารพพระพุทธรูปด้วย






" ทิสาทิโส เอหิ ภูมิโม อม (มะ) ภูมิมา อาคัจ ฉันตุ "
แปลว่า ขอเคารพบูชาพระภูมิเจ้าที่ แม่พระธรณี แม่พระคงคา ทุกทิศทุกทาง






" มนุสสานัง สะหะยัง ปิโยเทวา สีหะ ราชา เอหิจิตตัง ปิยังมะมะ "

แปลว่า ขอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาที่รักทั้งหลาย สัตว์ใหญ่น้อยทั้งหลาย จงมามีจิตเป็นมิตร สามัคคีกับข้าพเจ้าด้วย




นี่คือคำอธิบายและคำแปลง่ายๆ ของบทสวดมนต์ ของคุณแม่สิริ กรินชัย กัลยณมิตร คุณแม่ทางธรรมของพวกเราทั้งหลาย

เพื่อท่านที่ยังสงสัย ไม่ทราบจะได้ทราบ สำหรับท่านที่ทราบแล้ว ผู้เขียนขออภัย

ผลประโยชน์ใดๆ ในทางธรรมที่อาจจะเกิดจากคำแปลบทสวดมนต์ ขอยกเป็นเครื่องสักการะบูชาพระคุณ คุณแม่สิริ กรินชัย ด้วยเทอญ

(คัดลอกจากหนังสือไหว้พระสวดมนต์ ของมูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ ขอกราบขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย)

3 comments:

  1. สาธุ. ข้าพเจ้าได้รู้ และเข้าใจในทุกอักษรของคำสวดในว้นนี้ ขอความเจริญจงมีแด่ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรม

    ReplyDelete
  2. สาธุ. ข้าพเจ้าได้รู้ และเข้าใจในทุกอักษรของคำสวดในว้นนี้ ขอความเจริญจงมีแด่ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรม

    ReplyDelete
  3. สาธุ. ข้าพเจ้าได้รู้ และเข้าใจในทุกอักษรของคำสวดในว้นนี้ ขอความเจริญจงมีแด่ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรม

    ReplyDelete